the little mermaid ฉบับคนแสดง เรียกเสียงวิจารณ์และเหล่า Hater ได้ตลอดนับแต่วันปล่อยทีเซอร์หนัง เทรลเลอร์และภาพนิ่งจากภาพยนตร์สำหรับ ‘Disney’s The Little Mermaid’ หรือ ‘เงือกน้อยผจญภัย’ ที่มีฐานแฟนคลับจากแอนิเมชันดั้งเดิมและที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือการเป็นหนี่งในสัญลักษณ์ของ LGBTQIA+ ทั้งโดยนัยและความชอบที่แผ่กระจายไปทุกเพศทุกวัย โดยเป้าหมายของการโจมตีหลัก ๆ ของหนังคือเรื่องโทนภาพที่ลดความสดใสลงและแน่นอนการแคสต์ แฮลลี เบลีย์ (Halle Bailey) นักแสดงผิวดำมาเป็นแอเรียลจนเกิดคำถามว่า ดิสนีย์พยายามตามกระแสโวค (Woke) จนเกินงามไปหรือเปล่า
ตัวหนังไม่ได้ต่างจากฉบับแอนิเมชันนักมันยังคงวนเวียนกับเรื่องราวของความรักของ แอเรียล (รับบทโดย เบลีย์) เงือกน้อยไร้เดียงสาทีมีต่อมนุษย์อย่าง เจ้าชายอีริก (รับบทโดย โจนาห์ ฮาวเออร์-คิง, Jonah Hauer-King) จนเธอหลงไปแลกเสียงของเธอกับขาเพื่อตามหารักจาก เออร์ซูลา (รับบทโดย เมลิสซา แม็กคาร์ธี, Melissa McCarthy) แม่มดหนวดปลาหมึกเพื่อวางหมากหวังจะจับแอเรียลเป็นทาสและคิดบัญชีแค้นกับ คิงไทรทัน (รับบทโดย ฮาเวียร์ บาเด็ม, Javier Bardem) โดยจุมพิตรักแท้ภายใน 3 วันจากเจ้าชายอีริกคือทางเดียวที่แอเรียลจะเป็นมนุษย์และสมหวังในความรัก
ขอลัดไปพูดถึงการแคสต์เบลีย์เป็นเงือกน้อยตัวละครไอคอนนิคก่อนนะครับ คือถ้าให้พูดตรง ๆ ผมก็คิดว่าเธอมีคุณสมบัติเพียงพอแหละทั้งทักษะการแสดงและการร้องเพลงแบบมิวสิคัล ซึ่งทำได้ดีไม่แพ้ต้นฉบับเลย แต่…หากจะถามว่าการปรากฎตัวของเธอว้าวแค่ไหน ก็ต้องบอกตามตรงว่าธรรมดาครับ วัดง่าย ๆ จากรอบสื่อเลยเพราะทางดิสนีย์เชิญเซเลบที่เป็น LGBTQIA+ ไปเยอะมากแต่ฉากร้องเพลงใด ๆ คือกริบ ไม่มีปรบมือ ไม่มีกรี๊ดกร๊าด ถ้าให้พูดแบบถนอมน้ำใจก็คือเสมอตัวแหละครับ
และอย่างที่บอกว่าฉบับไลฟ์แอ็กชันของผู้กำกับ ร็อบ มาร์แชล (Rob Marshall) ก็เหมือนเอาแอนิเมชันสุดคลาสสิกเป็นธรรมนูญหลักในการสร้างภาพ ซึ่งมันก็คงฉากจำต่าง ๆ ไว้รวมถึงแทบจะลอกลายกันมาเป็นหนังเลยก็ว่าได้ โดยหักหลบเล่นท่าเปลี่ยนนั่นนู่นนี่บ้าง ซึ่งหนังมีการเติมตัวละครใหม่ ๆ และตัดตัวละครและบางประเด็นออก โดยต่อเนื่องจากดรามาของเบลีย์ในฐานะนางเงือกคนดำ หนังก็ให้เหตุผลในฉากชุมนุมธิดาเงือกทั้ง 7 คาบสมุทรที่ในแอนิเมชันอาจมีเงือกที่ดูเป็นคนจีนเอเซียแต่ฉบับหนังคือมีทั้งคนดำแบบแอฟริกาและเงือกอเมริกาใต้อยู่ด้วยเพื่อทำให้เงือกฉบับเบลีย์ดูมีเหตุผลรองรับ
แต่คำสาปสำคัญของ ‘ความสมจริง’ หลายอย่างที่เราเคยประจักษ์มาแล้วจาก ‘The Lion King’ ที่ใกล้เคียงกันในแง่ของการมีสัตว์เป็นตัวละครก็คือมันต้องยอมลดทอนความน่ารักและท่าทีไม่สมจริง จนตัวละครอย่าง ฟลาวน์เดอร์ ที่พากย์โดย เจคอบ เทรมเบลย์ (Jacob Tremblay) กลายเป็นปลาเทวดา (Angel Fish) ที่ดูธรรมดาแล้วปากขยับได้ต่างจากแอนิเมชันที่น่ารักจนเป็นขวัญใจเด็ก ๆ หรือกระทั่งการตัดซีนที่เซบาสเตียน (ให้เสียงพากย์โดย ดาวีด ดิกส์, Daveed Diggs) ปูอำมาตย์ที่ต้องเอาตัวรอดจากการเป็นอาหารเสิร์ฟดินเนอร์ หนังก็ตัดออกเพื่อลดภาพความโหดร้ายหรือการทารุณกรรมสัตว์ออกไปก็ทำให้มุกตลกแบบแอนิเมชันหายไป
แต่กระนั้นเราก็ต้องยอมรับว่าพอรูปลักษณ์ที่สมจริงของสัตว์ในเรื่องถูกลดทอนความน่ารักมุ้งมิ้งออกไป สิ่งเดียวที่จะเอาคนดูอยู่คือเหล่านักแสดงที่มาให้เสียงพากย์ซึ่งเราขอกล่าวถึง ดาวีด ดิกส์ และ อควาฟีนา (Awkwafina) ที่ให้เสียงปูอำมาตย์เซบาสเตียนกับนกแกนเน็ตช่างพูดนามว่า ‘สกัทเทิล’ เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างสีสันเล่นมุกตลกกระตุ้นให้ผู้ชมหัวเราะแล้ว หนังยังให้โอกาสทั้งคู่ในการโชว์เสียงร้องทั้งเพลง ‘Under the sea’ และ ‘Kiss the girl’ ของดิกส์โดยเพลงหลังอควาฟีนาก็มีส่วนร่วมในการแจมในท่อมคอรัส
หรือที่เซอร์ไพร์สมากในเพลงแต่งใหม่อย่าง ‘The Scuttlebutt’ ที่ อลัน เมนเคน (Alan Menken) ที่เคยทำดนตรีให้แอนิเมชันต้นฉบับกลับมาคุมดนตรีแล้วให้ ลิน-มานูเอล มิแรนดา (Lin-Manuel Miranda) ตัวจริงสายบรอดเวย์มาแต่งเนื้อร้อง ซึ่งที่บอกเซอร์ไพร์สก็เพราะว่านี่คือเพลงแรป-ใช่ครับฟังไม่ผิด แทร็กนี้ไม่อยู่ในแอนิเมชันต้นฉบับเพราะเป็นตอนสกัทเทิลมาบอกข่าวเจ้าชายแต่งงานให้กับแอเรียลได้รู้ในตอนท้าย ซึ่งถือเป็นการใช้ประโยชน์จากความเป็นแรปเปอร์ของเธอได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพลงก็มันจนอดโยกหัวตามไม่ได้เลย
ส่วนเพลงโดยรวมทั่วไปก็ถือว่าทำได้ดีตามมาตรฐานของเมนเคนครับ เพลงเดิมแต่ปรับดนตรีให้อลังการขึ้น มีการเล่นกับการบันทึกเสียงที่ทันสมัยขึ้นโดยเฉพาะการออกแบบซาวด์ในเพลง ‘Kiss the girl’ ที่มีการใช้โฟลีย์เลียนเสียงธรรมชาติมาประกอบงานภาพได้ลงตัว แต่นอกจากเพลงแต่งใหม่อย่าง ‘The Scuttlebutt’ แล้วก็ต้องบอกว่า เมนเคนเพลย์เซฟมากไปหน่อยครับ
เอาล่ะหลังจากอ้อมไปเขียนเรื่องอื่นตั้งนานทีนี้มาคำถามสำคัญว่าตกลงคราวนี้การที่แคสต์คนผิวดำมาเป็นนางเงือกทำให้เห็นว่าดิสนีย์โวค (Woke) หรือเปล่า ให้ตอบแบบเป็นธรรมก็ต้องบอกว่ามันไม่ได้พยายามยัดเยียดอย่างที่หลายคนเข้าใจหรอกครับ ตามที่ได้บอกไปแล้วว่านี่คือการพยายามทำให้ภาพจากแอนิเมชันมาอยู่ในรูปแบบไลฟ์แอ็กชันแล้วสมจริง รวมถึงการพยายามหาแง่มุมใหม่ ๆ เพื่อมาสร้างเรื่องเล่าที่ตอบโจทย์กับสังคมในปัจจุบัน
ดังนั้นหลังจากได้สร้างภาพนางเงือกที่ถูกบรรยายในหนังสือ ฮานส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซ่น (Hans Christian Andersen) ว่า ‘มีรูปโฉมงดงามที่สุดในบรรดาพี่น้องสาวสวยทั้ง 7’ เป็นเงือกผิวขาวผมแดง (ที่ต้องผมแดงเพราะดิสนีย์เคยเจ๊งจากหนังนางเงือกอย่าง ‘Splash’ มาก่อนซึ่งนางเอกเป็นเงือกมีผมบลอนด์) ดังนั้น การรับรู้ความงาม (Beauty Perception) ของผู้ชมในปี 1989 กับปี 2023 ย่อมต่างกันโดยเฉพาะการเปิดกว้างเรื่องความงามและมันก็อนุญาตให้ผู้สร้างเติมช่องว่างเรื่องสีผิวที่นิยายต้นฉบับก็ไม่ได้บรรยายไว้อีกด้วย
แต่นอกจากเรื่องนางเงือกผิวดำและหลากเชื้อชาติแล้ว ฉากที่คนดูคุ้นตาจากแอนิเมชันก็ยังอยู่แบบครบถ้วนแต่อาจขัดใจคอแอนิเมชันที่คิดว่าอะไร ๆ มันควรสว่างกระแทกตากว่านี้ อันนี้ต้องบอกว่าพอภาพมันต้องสมจริงโลกใต้ทะเลย่อมเป็นน้ำโทนสีนี้แหละครับตามหลักกายภาพและหนังก็มีการเรนเดอร์ภาพแบบไฮ ไดนามิก เรนจ์ (High Dynamic Range) หรือ HDR นะครับซึ่งแนะนำให้หาโรงหนังที่ฉายในระบบเลเซอร์ (Laser Projection) นะครับจะได้ภาพที่สีสันกระแทกตาแน่นอน แม้ในภาพรวมมันจะดูเหมือน ‘Aquaman’ ไปหน่อยก็เถอะ
นอกจากนี้ยังมีหลายจุดที่หนังพยายามเปิดประเด็นใหม่ ๆ ขึ้นมาโดยเฉพาะการใส่ควีนเซลีนา (รับบทโดย โนมา ดูเมซเวนี, Noma Dumezweni) ราชินีผิวดำแม่ของเจ้าชายอีริกที่หลายครั้งก็อดเข้าใจผิดไม่ได้ว่านี่เรากำลังดู ‘Bridgerton’ อยู่หรือเปล่า แถมยังเป็นการใส่มาแบบไม่ได้มีเหตุผลอะไรรองรับเสียด้วยนอกจากมากดดันลูกให้แต่งงาน
หรือฉากดูแผนที่ระหว่างเจ้าชายอีริกกับแอเรียลที่เหมือนจะมีประเด็นอะไรสำคัญหรือการเปิดประเด็นเรื่องเออร์ซูลาเป็นต้นเหตุความบาดหมางระหว่างมนุษย์กับเงือก ซึ่งเป็นการเปิดประเด็นที่ไม่มีการสานต่อจนผู้ชมไม่เข้าใจว่าจะเพิ่มมาทำไม และนั่นก็นำพาให้เกิดคำถามว่านอกจากการที่ดิสนีย์พยายามไถ่โทษเรื่องการสร้างภาพจำของเจ้าหญิงผิวขาว คุณค่าที่แท้จริงของ ‘Disney’s The Little Mermaid’ ฉบับนี้อยู่ตรงไหนกันแน่ ?
จุดเด่น the little mermaid ฉบับคนแสดง
- the little mermaid ฉบับคนแสดง เป็นการดัดแปลงที่มีสิ่งน่าสนใจหลายจุดโดยเฉพาะเรื่องเพลง
- Halle Bailey สามารถเป็นแอเรียลในเวอร์ชันที่แตกต่างได้อย่างน่าสนใจและครบเครื่องทั้งการแสดงและเสียงร้อง
- Awkwafina ได้โชว์ความสามารถด้านแรปในงานพากย์เสียงและเป็นไฮไลต์ของหนังเลย
- เพลง Kiss the girl เวอร์ชันในหนังมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้นจากหนังแอนิเมชัน
จุดสังเกต
- ตัวละครที่เพิ่มมาส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีประโยชน์
- มีการเปิดประเด็นแล้วทิ้งขว้างอยู่หลายจุด
- ความสมจริงทำลายเสน่ห์ที่เคยอยู่ในแอนิเมชันไปอย่างน่าเสียดาย the little mermaid ฉบับคนแสดง